

อุดฟัน
เพื่อได้ฟันสวยพร้อมสุขภาพฟันที่ดีที่สุด
อุดฟันเจ็บมั้ย มีกี่แบบ ทำไมต้องอุดฟัน!!

การอุดฟัน เป็นทันตกรรมพื้นฐานที่ช่วยรักษาอาการฟันผุ ฟันแตก หรือฟันที่ถูกทำลาย ซึ่งหลายคนอาจกำลังมีคำถามในใจ เช่น อุดฟันเจ็บไหม? มีกี่แบบ? ขั้นตอนการอุดฟันมีอะไรบ้าง? ราคาแพงหรือไม่? และอื่นๆ อีกมากมาย บทความนี้จะมาช่วยไขข้อสงสัยเหล่านั้นให้เอง

ทำไมเราถึงต้องอุดฟัน? อาการแบบไหนบ้างนะที่ควรต้องอุดฟัน?
การอุดฟันเป็นการใช้วัสดุอุดฟันเติมเต็มเข้าไปทดแทนเนื้อฟันที่เสียหายจากปัญหาสุขภาพฟันต่างๆ โดยวัสดุอุดฟันจะเข้าไปช่วยยับยั้งผลเสียไม่ให้เกิดมากขึ้น รวมถึงช่วยให้ฟันกลับมาเคี้ยวบดอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัญหาสุขภาพฟันที่ไม่ควรทิ้งไว้ และควรแก้ไขด้วยการอุดฟัน ได้แก่ ฟันผุ
- ฟันผุ
- ฟันที่เห็นเป็นรูชัดเจน
- ฟันที่แตกครึ่งซีก
- ฟันบิ่น
- ฟันห่าง
ดังนั้น หากถามว่าทำไมถึงต้องอุดฟัน ก็ต้องตอบว่าเพราะเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพฟันไม่ให้ลุกลามจนอาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ แถมขั้นตอนการอุดฟันนั้นก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลายคนคิด ไม่ต้องกังวลว่าจะเจ็บ เพราะสามารถทำเสร็จได้ง่ายๆ ภายในวันเดียว รวมถึงทันตแพทย์เองก็มีวิธีบรรเทาอาการปวดระหว่างขั้นตอนการทำและหลังรับการรักษาอยู่ด้วย

การอุดฟันมีทั้งหมดกี่แบบ?
การอุดฟันมี 2 แบบ แบ่งตามชนิดของวัสดุที่ใช้ คือ การอุดฟันแบบอมัลกัม และ การอุดฟันแบบเรซินคอมโพสิต หรือเรียกว่า การอุดฟันสีเหมือนฟัน
อุดฟันแบบอมัลกัม
การอุดฟันแบบอมัลกัม คือ การใช้อมัลกัม (Amalgam) เป็นวัสดุในการอุดฟัน อมัลกัมเป็นวัสดุสีโลหะ ได้จากการผสมกันระหว่างโลหะประเภทต่างๆ เช่น ปรอท เงิน ดีบุก มีข้อดีคือใช้งานง่าย สะดวกรวดเร็ว แข็งแรง ยึดติดกับฟันได้เองโดยไม่ต้องทำล็อก อีกทั้งขั้นตอนการอุดฟันโดยใช้อมัลกัมยังไม่ซับซ้อนอีกด้วย
หลายคนเห็นว่าอมัลกัมนั้นมีปรอทเป็นส่วนผสมจึงอาจกังวลเรื่องความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม อมัลกัมเป็นวัสดุทางการแพทย์ แม้จะมีส่วนประกอบของปรอทแต่ไม่ได้มีในปริมาณมาก และอยู่ในแคปซูลปิดที่แข็งตัวแล้ว จึงไม่ปล่อยไอระเหยที่เป็นอันตรายออกมา รวมถึงตลอดเวลาที่ใช้มานานหลายปีนั้นยังไม่มีงานวิจัยที่บ่งบอกว่าอมัลกัมเป็นอันตรายต่อร่างกายแต่อย่างใด
เหมาะกับใคร?
วิธีอุดฟันแบบอมัลกัมนิยมใช้ในการอุดฟันหลัง เช่น ฟันกราม และฟันกรามน้อย เพราะความแข็งแรงทนทานของวัสดุทำให้ทนต่อแรงบดเคี้ยวได้ดี ทั้งนี้ ผู้ที่มีปัญหาที่ฟันหน้าอาจไม่เหมาะกับอมัลกัมเท่าไหร่ เพราะอมัลกัมมีสีเข้ม มองเห็นได้ชัด จึงอาจไม่กลมกลืนกับสีฟันนัก
อุดฟันแบบเรซินคอมโพสิต
การอุดฟันแบบเรซินคอมโพสิต หรือที่เรียกกันว่า อุดฟันสีเหมือนฟัน หรือ อุดฟันสีขาว คือ การนำวัสดุอุดฟันที่ทำมาจากเรซินคอมโพสิต (Composite Resin) ซึ่งให้สีเหมือนฟันที่มีความเป็นธรรมชาติมาใช้อุดฟัน นับว่าเป็นวิธีที่นิยมใช้มากในปัจจุบัน แต่ยังไม่แข็งแรงเท่าแบบอมัลกัม รวมถึงขั้นตอนการอุดฟันคอมโพสิตนั้นซับซ้อนกว่าด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้มีการพัฒนาให้เรซินคอมโพสิตมีความแข็งแรงขึ้น จึงสามารถใช้อุดฟันหลังได้ด้วย
เหมาะกับใคร?
การอุดฟันแบบเรซินคอมโพสิต อุดฟันสีเหมือนฟัน หรือ อุดฟันสีขาวนี้เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาฟันผุบริเวณฟันหน้า หรือบริเวณฟันที่ยิ้มแล้วเห็นชัดเจน เพราะวัสดุอุดฟันให้สีที่ใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติ จึงมักใช้กับบริเวณที่ต้องการความกลมกลืนสวยงาม

ขั้นตอนการอุดฟันมีอะไรบ้าง?
หลายคนกังวลเวลาต้องไปทำทันตกรรม เพราะไม่รู้ว่าจะต้องเจอกับอะไร วิธีคลายกังวลเรื่องนี้ทำได้ไม่ยาก เพียงแค่ศึกษาไว้ล่วงหน้าก่อนว่าขั้นตอนการอุดฟันมีอะไรบ้าง ก็จะช่วยให้เตรียมตัวเตรียมใจไปพบทันตแพทย์ได้ดีขึ้น บอกเลยว่าไม่ได้น่ากลัวหรือยาวนานอย่างที่คิด
ตรวจเช็กสุขภาพฟัน
ขั้นตอนแรกในการอุดฟันคือการตรวจสุขภาพฟัน โดยทันตแพทย์จะประเมินอาการว่าฟันมีปัญหามากน้อยแค่ไหน มีฟันผุอยู่ในระดับใด และสามารถใช้การรักษาโดยการอุดฟันได้หรือไม่
เคลียร์ช่องปาก
หากตรวจสอบแล้วว่าสามารถอุดฟันได้ ทันตแพทย์ก็จะเคลียร์ช่องปาก ซึ่งเป็นวิธีการเตรียมฟันให้เหมาะสม โดยขึ้นอยู่กับสุขภาพฟันของผู้รับบริการแต่ละคน อาทิ ทำความสะอาดช่องปาก กำจัดแบคทีเรีย เศษคราบ หากมีหินปูนมากอาจต้องขูดหินปูนก่อน หากฟันผุใกล้รากฟันอาจใส่วัสดุป้องกันเส้นประสาทฟัน เป็นต้น จากนั้น ในกรณีมีฟันผุเยอะ ฟันผุลึกใกล้โพรงประสาท หรือกลัวเสียวฟัน ทันตแพทย์จะทำการฉีดยาชาให้
กรอฟันให้เหมาะสม
ขั้นตอนการอุดฟันลำดับถัดมา ทันตแพทย์จะทำการกรอฟันเพื่อเตรียมเนื้อฟันให้ได้ช่องที่เหมาะสม โดยฟันที่ผุส่วนมากจะมีส่วนที่มีสีดำ มีเศษอาหารเข้าไปติด หรืออาจมีการติดเชื้อ นิ่ม ยุ่ย เปลี่ยนสี ทันตแพทย์จะใช้เครื่องมือกรอส่วนนั้นออก ให้เหลือเพียงเนื้อฟันที่มีความแข็งแรงเท่านั้น สำหรับขั้นตอนนี้อาจมีเสียวฟันหรือปวดบ้าง แต่ทันตแพทย์จะฉีดยาชาให้ก่อนเริ่มกรอฟันเพื่อบรรเทาอาการ
ใส่วัสดุสำหรับอุดฟัน
หลังจากกรอฟันเสร็จ ขั้นตอนการอุดฟันขั้นต่อไปคือการใส่วัสดุอุดฟันเข้าไปบริเวณฟันที่ผุ โดยกรณีที่อุดฟันแบบอมัลกัม ทันตแพทย์จะกดวัสดุใส่หลุมฟันที่ได้เตรียมไว้จนแน่นพอดี กรณีที่อุดฟันแบบเรซินคอมโพสิต จะใส่วัสดุเรซิน สลับกับการฉายแสง LED ให้วัสดุแข็งตัวไปทีละชั้น
ทั้งนี้ ผู้ที่ไปทำฟันสามารถเลือกเองได้ว่าต้องการใช้วัสดุชนิดไหน โดยมีทันตแพทย์เป็นผู้พิจารณาเสนอชนิดของวัสดุที่เหมาะสมให้ร่วมด้วย เนื่องจากจำเป็นต้องพิจารณารวมกับปัจจัยหลายด้าน เช่น ความแข็งแรง ความสวยงาม เป็นต้น
ปรับแต่งวัสดุให้สวยงาม
เมื่อทันตแพทย์ใส่วัสดุเรียบร้อยแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการอุดฟันขั้นตอนสุดท้าย นั่นคือ การปรับแต่งวัสดุให้ได้ขนาดและรูปร่างที่เหมาะสมสวยงาม ดูเป็นเนื้อเดียวกันกับฟันตามธรรมชาติ มีความเงางาม โดยขัดวัสดุให้เรียบ

เคสไหนบ้างที่ควรอุดฟัน
คนที่จะต้องทำการอุดฟันจะมี ดังต่อไปนี้
- มีปัญหาฟันแตก ฟันผุ ปวดฟัน หรือฟันสึก ซึ่งตรวจแล้วพบว่าจะต้องรักษาฟันที่ถูกทำลายด้วยการอุดฟัน
- คนที่เคยอุดฟันมาแล้วแต่ว่ามีปัญหาที่อุดฟันแตกหรือที่อุดฟันหลุด
- มีปัญหาฟันห่าง โดยสามารถใช้วิธีอุดปิดช่องว่างระหว่างฟันจะใช้วัสดุอุดฟันสีเหมือนฟันได้
- ต้องการปรับเปลี่ยนรูปร่าง หรือปรับเปลี่ยนสีของวัสดุอุดฟัน
- แปรงฟันแรงรวมถึงใช้ยาสีฟันที่มีผงขัดหยาบ ทำให้ผิวฟันบริเวณคอฟัน เกิดสึกกร่อนไป
อุดฟันเจ็บไหม
ในระหว่างที่ทำการอุดฟัน หากไม่ได้ผุลึกมากอาจจะมีความรู้สึกเสียวบ้างเวลาทำการกรอฟัน แต่ถ้าหากปล่อยไว้จนผุลึกมากและใกล้กับโพรงประสาท ก็อาจจะรู้สึกเจ็บได้ แต่ทันตแพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่ให้ เพื่อที่คนไข้จะได้ไม่รู้สึกเจ็บ หรือเสียวฟันขณะทำการอุดฟัน ซึ่งยาชานี้จะออกฤทธิ์ประมาณ 2-3 ชั่วโมง จึงไม่ต้องกังวลว่าจะเจ็บจนทนไม่ไหว
ข้อดี – ข้อเสียของการอุดฟัน
ข้อดีของการอุดฟัน
- ช่วยเติมเต็มฟันให้กลับมาบดเคี้ยวได้ปกติ
- การอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน ช่วยทำให้ฟันกลับมาดูสวยงามอย่างเป็นธรรมชาติอีกครั้ง
- ช่วยป้องกันฟันผุลุกลามไปยังโพรงประสาทฟัน
- ช่วยลดอาการปวดหรือเสียวจากฟันผุ
ข้อเสียของการอุดฟัน
- วัสดุที่ใช้อุดฟันสามารถหลุดหรือเสื่อมอายุได้ แต่ถ้าดูแลดีๆ วัสดุอุดฟันก็จะอยู่กับคุณได้ยาวนานเป็นสิบๆ ปี
- หากสูญเสียเนื้อฟันไปเป็นจำนวนมากจะไม่สามารถบูรณะฟันด้วยการอุดฟันได้
การดูแลรักษาหลังการอุดฟัน
หลังจากทำการอุดฟัน คนไข้จำเป็นต้องดูแลตัวเองตามที่ทันตแพทย์ให้คำแนะนำ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารแข็งๆ เพราะวัสดุอุดฟันอาจแตก หรือฟันเสียหายได้
- ใช้แปรงสีฟันขนอ่อนนุ่มและแปรงฟันให้ถูกวิธี รวมถึงใช้ไหมขัดฟันในการขจัดเศษอาหารระหว่างซอกฟันเพิ่มเติมด้วย
- ในช่วง 24 ชั่วโมงแรกหากมีอาการเสียวฟัน ให้งดการรับประทานของเย็น ร้อนจัด การขัดของแข็ง อาการเสียวฟันจะลดลงเรื่อยๆ ตามระยะเวลา และถ้าหากเกิน 1 เดือนยังไม่หาย แนะนำให้รีบเข้าพบทันตแพทย์ทันที
- งดเคี้ยวหรือใช้งานฟันซี่ที่อุดด้วยวัสดุโลหะ 24 ชั่วโมง เพื่อให้วัสดุอุดฟันแข็งแรงและเข้ารูปเต็มที่
- ควรกลับมาพบทันตแพทย์ทุก ๆ 6 เดือนเพื่อทำการตรวจสุขภาพฟัน
อุดฟัน ที่ไหนดี
สุดท้ายผลของการอุดฟันหรือการทำทันตกรรมใดๆ ก็ตาม จะออกมาดีและปลอดภัยหรือไม่นั้น สิ่งสำคัญที่สุดเลยก็คือ การเลือกคลินิกที่เชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ และสามารถให้คำปรึกษาเพิ่มเติมได้ ยิ่งถ้าได้รับการดูแลโดยทันตแพทย์เฉพาะทางที่มากประสบการณ์ พร้อมจัดเต็มเรื่องเครื่องมือที่ทันสมัยได้มาตรฐานด้วยแล้ว ก็ยิ่งช่วยการันตีได้ว่า จะได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพ สะอาด และปลอดภัยอย่างแน่นอน
แต่สำหรับใครที่สนใจอยากเข้ามารับบริการหรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการอุดฟันแบบละเอียด โดยมีทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำ สามารถมาที่ติดต่อTooth & Go Dental Clinic เพื่อให้บริการและคำปรึกษาเกี่ยวกับการทำทันตกรรมแบบครบวงจรได้โดยตรงได้เลยที่ Line และ Facebook